Pages

Tuesday, July 24, 2012

ปริทรรศน์วรรณคดีอังกฤษในยุคสมัย Queen Elizabeth I การปรับตัวสู่ยุควรรณกรรมสมัยใหม่ และอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทย


รัชสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 หรือ Virgin Queen แห่งอังกฤษทรงครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1558 – 1608 (ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของกรุงสยาม) พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา 45 ปี เป็น ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissances) อังกฤษมีความเจริญรุ่งเรืองหลายด้านโดยเฉพาะด้านการเดินเรือได้แผ่ขยายอำนาจไปครอบครองดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งความเจริญรุ่งเรืองนั้นได้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งอันเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในกาลต่อมาเป็นอย่างมาก รัชสมัยนั้นได้เกิดมีบุคคลสำคัญๆ เช่น กวี นักประพันธ์ นักปราชญ์ ได้ก่อเกิดวิทยาการ การเมือง การทหารเยี่ยงคู่บุญญาบารมีของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 สมดั่งที่ร่ำลือทั้งในเรื่อง “กฤษดาภินิหาร”

เช่นเรื่องที่กล่าวขานกันอย่างสืบต่อกันมาคือ เซอร์ วอลเตอร์ราเล ห์ได้เปลื้องเสื้อคลุมเพื่อปูเป็นทางรองพระบาทถวายรับเสด็จ เพื่อมิให้พระยุคลบาทต้องสัมผัสเปื้อนกับพื้นถนนที่สกปรกเป็นโคลนเฉอะแฉะ

รัชสมัยนี้มีของใหม่เกิดขึ้นในแวดวงวรรณคดีอังกฤษ เนื่องจากมีความรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์เป็นอันมาก ทั้งการประพันธ์ร้อยแก้วและบทละคร มีนักประพันธ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีระบบแท่นพิมพ์ได้ถูกค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาจึงทำให้วรรณคดีอังกฤษได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ความุ่งเรืองด้านวรรณคดีและการพิมพ์นี้ส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นต้นแบบทางวรรณคดีที่ส่งอิทธิพลต่อแวดวงวรรณคดีและวรรณกรรมอย่างหลากหลายและกว้างขวางทั่วทวีปยุโรปและทั่วโลก ทั้งยังได้สะท้อนถึงความงามและการดำเนิชีวิตอย่างมีวัฒนธรรมแบบคนชั้นสูง หรือความเป็น “ผู้ดีอังกฤษ” ได้เป็นอย่างดี

กวีและนักประพันธ์ในยุคแรกของพระองค์ที่มีความสำคัญและโดดเด่นในรัชสมัยของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ได้แก่

เอ็ดมันด์ สเปนเซอร์ (Edmund Spenser) ซึ่งได้รับฉายา “Poet’s poet” ได้ปรับปรุงฉันทลักษณ์จากบทกวีสมัยกรีกโรมันและมีกวีรุ่นหลังต่างก็เดินตามรอยเขา ชีวประวัติของเอ็ดมันด์ สเปนเซอร์มีความน่าสนใจที่ไปพ้องคล้ายกันกับกวีท่านสุนทรภู่ และกวีศรีปราชญ์ของไทยเรา กล่าวคือ ท่านสเปนเซอร์ได้รับราชการอยู่ในพระราชวัง ได้เข้าออกในรั้วในวัง ได้เห็นสังคมชั้นสูงความหรูหราและความยากจนข้นแค้นของราษฎร เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนอ่านบทกวีเก่าๆ ไปด้วยก็ย่อมจะรู้จักวิธีถ่ายทอดในเหมาะสมกับยุคสมัยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องราวเสียดสีสังคม

Edmund Spenser , "Post's Poet"

จอห์น ลิลี (John Lyly, 1554 – 1606) เป็นผู้ให้กำเนิดสำนวนและลีลาอันบรรเจิดบรรจงใช้ศัพท์แสงอย่างหรูหรา จนเรียกขานกันว่าเป็น ยูฟูอิสม์ (Euphuism) จากการเขียนเป็นทำนองนิยายถึงเรื่องที่หนุ่มเอเธนส์นายยูฟูส์ (Euphues) กับสหายชาวอิตาลีชื่อ ฟิเลาตุส สองหนุ่มอกหักรักคุดกับสาวอิตาเลียนมาโดยตลอด ในภาคสองนั้น สองหนุ่มได้ชวนกันมาเที่ยวจีบสาวที่เกาะอังกฤษ ต่างฝ่ายต่างก็เตือนกันเองแต่ก็ไม่วายต้องอกหักซ้ำซาก เมื่อยูฟูส์กลับกรุงเอเธนส์ก็เขียนจดหมายระบายรักถึงอุปนิสัยของสาวอิตาเลียน สาวอังกฤษและขนบธรรมเนียมต่างๆ ของทั้งสองชนชาติ เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนเรื่องราวของการริเริ่มและผสมผสานรับเอาวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่จากความเจริญรุ่งเรืองในสมัยกรีกโรมันเข้ากับยุคของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ที่สำคัญคือ จอห์น ลิลี เป็นผู้เริ่มการประพันธ์แบบการเล่าและผูกเรื่องให้เกิดความน่าสนใจในรูปแบบใหม่ที่ต่อมาได้เกิดเป็นการประพันธ์ที่เรียกว่า Novel หรือ นวนิยาย นั่นเอง

ทอมัส นาซ (Thomas Nash, 1567 - 1601) เขียนเรื่อง The Unfortunate Traveler นำเอาเรื่องความเป็นคนขี้โกงของแจ็ค วิลตันเป็นตัวเอกของเรื่อง ความสนุกสนานของเรื่องอยู่ที่ความกะล่อน มีสติปัญญาปราชญ์เปรื่องแบบศรีธนชัย เป็นนวนิยายเรื่องแรกของอังกฤษ มีเค้าโครงเรื่องแบบนวนิยายมีพล็อตเรื่อง มีการดำเนินเรื่อง มีคนร้ายคนดี ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้คนมากเพราะใกล้เคียงกับชีวิตจริงในสังคมนอกรั้วนอกวัง และเป็นต้นแบบของเรื่องแนวของตัวเดินเรื่องที่เป็นคนไม่ดีเป็นตัวดำเนินเรื่อง (picaresque romance)


ด้านการละคร แรกเริ่มมีขึ้นในอังกฤษในสมัยชอเซอร์แต่เป็นละครอย่างละครชาตรี(แบบไทยเรา) โดยนำเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนามาแสดง(เรียกว่า Miracle play และ Morality play) มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนสั่งราษฎรเพราะขณะนั้นศาสนจักรมีอิทธิพลสูงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน มาในสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ได้เริ่มมีโรงละครอย่างถาวรเกิดขึ้นและเริ่มมีการเล่นหรือแสดงเพื่อความบันเทิงเรียกว่า Tudor Drama และเปลี่ยนสถานที่เล่นจากในรั้ววังแสดงถวายเจ้านายทอดพระเนตรออกสู่นอกรั้ววัง ความนิยมก็มีมากขึ้น มีคณะละคร โรงละครเกิดขึ้นมากมายหลายแบบ ที่เด่นดังคือ The Globe ที่เชกสเปียร์ได้มาเป็นทั้งหุ้นส่วน คนเขียนบทและผู้แสดง โรงละครThe Black friars มีหลังคาปิดเล่นได้ทุกฤดูกาล เป็นต้น

นักประพันธ์บทละครที่มีชื่อเสียงมากที่สุด 3 คนแรกได้แก่ Christopher Marlowe, Thomas Kidและ William Shakespeare ส่วนใหญ่เรื่องราวบทละครล้วนมีเค้าโครงที่นำมาจากประวัติศาสตร์ เช่น เรื่อง Tamburlance the great, The Tragical History of Dr. Faustes, The Jew of Maltaและเรื่อง Hero and Leander

คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ (Christopher Marlowe) เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ปริญญา M.A. จบมาก็เขียนบทละครและคบหาพวกเล่นละคร ผลงานประพันธ์ของเขามีอิทธิต่อมาอีกเป็นเวลานาน น่าเสียดายที่เขามีอายุสั้นเพียง 7 ปีหลังเรียนจบ ทิ้งผลงานวรรณคดีสำคัญได้แก่Tamburlance the great เขียนเป็นกลอนได้เค้าโครงเรื่องมาจากเรื่อง ทีมูร์ง่อย (Timur the Lame) โอรสของเจงกีสข่าน ผู้ตั้งราชวงศ์โมกุลขึ้นในมองโกเลีย ประมาณสมัยปี ค.ศ.1400 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของ Tamburlance โจรผู้ช่วยให้เจ้าคอสโรชิงบัลลังก์จากพี่ชาย(กษัตริย์เปอร์เซีย)ต่อมาเขาก็ปลงพระชนม์เจ้าคอสโรแล้วครองราชย์เสียเอง ทีมูร์มีนิสัยโหดเหี้ยมดุร้าย ไปรบกับตุรกีจับกษัตริย์ขังกรงจนสิ้นพระชนม์ เขามาเจอกับสาวงามแห่งอียิปต์ ด้วยความสวยอ่อนหวานจึงทำให้เขาเป็นคนที่โอนอ่อนลงได้บ้าง เรื่องราวจบตอนแรกลงที่ตรงนี้ เรื่องนี้เมื่อแสดงในโรงละครมีผู้คนสนใจติดตามมากเพราะให้ความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจให้ความบันเทิงในรัก และยังมีเรื่อง The Tragical History of Dr. Faustes, The Jew of Malta, เรื่องเกี่ยวกับความรักที่มีบทกวีไพเราะจับใจเรื่อง Hero and Leander

Hero and Leander

เรื่อง Hero and Leander เป็นเรื่องที่นางเอกถือโคมไฟให้พระเอกว่ายน้ำทะเลฝ่าคลื่นลมมาหา ทว่าคืนหนึ่งมีพายุคลื่นลมแรง กว่าเขาจะว่ายไปถึงฝั่งดั่งเช่นทุกๆ คืน เขาก็หมดแรงจมน้ำตาย เมื่อเห็นคนรักเป็นเช่นนั้นนางเอกก็โจนลงทะเลตายตามไปด้วย เรื่องนี้มีกลอนบทหนึ่งที่ไพเราะ มีผู้คนติดอกติดใจนำมากล่าวให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ในปัจจุบันนี้ว่า

“Come live with me and be my love” และหากเอ่ยชื่อ Hero and Leander หนุ่มสาวชาวอังกฤษก็รู้จักกันแทบทั้งสิ้น เพราะคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์เขียนกลอนได้ไพเราะจับใจมาก ผู้คนนิยมอ่านกันมากนั่นเอง

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) มีชีวิตอยู่เป็นบุญญาธิการเสริมพระบารมีให้แก่พระราชินีอลิซาเบธ คนลอนดอนในสมัยนั้นหายใจเข้าออกก็เป็นละคร เป็นมหรสพที่หาชมดูได้ทั้งสามัญชนและในรั้วในวัง คนเขียนบทละครมีมากมายที่เกิดขึ้นแล้วล้มหายตายจากแต่ที่มีชื่อเสียงก้ไม่มีใครเกินวิลเลียม เชกสเปียร์ เพราะเป็นทั้งผู้แสดง นักแต่งบทละคร จนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นมหากวีเอกของโลก

บทละครของเชกสเปียร์ มีมากมายถึง 38 เรื่อง ได้แก่ โรมีโอและจูเลียต เวนิสวาณิช(The Merchant of Venice) ตามใจท่าน(As You Like It) จูเลียต ซีซาร์(Julius Caesar) ฝันกลางฤดูร้อน เป็นต้น ไทยเรารับเอาอิทธิพลจากวรรณคดีอังกฤษของเชกสเปียร์อีกบทกลอนหนึ่งที่ติดปากเรามาจนถึงปัจจุบันนี้

“The quality of mercy is not strain’d It droppeth as the gentle rain from heaven
Upon the place beneath. It is twice blest…….”

“อันว่าความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่อใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน..”

ก็นำมาจากเรื่อง เวนิสวาณิช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลเป็นพากษ์ไทย และกระทรวงศึกษาธิการเคยบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาในอดีต เช่นเดียวกับคำว่า


“โลกนี้เหมือนโรงละครนิดๆ คิดว่าเราเป็นละครอยู่ทั่วกัน”

ก็ถูกนำมากล่าวถึงกันอย่างไม่รู้ที่มาเฉกเช่นในวันนี้


จูเลียส ซีซาร์ ( Julius Caesar ) เป็นบทละครที่นิยมมากอีกเรื่อง (ทวีปวร แปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2512 พิมพ์ในหนังสือ วิทยาสาร) เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคสมัยจูเลียส ซีซาร์ ผู้ครองนครโรมันที่ยิ่งใหญ่ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกในเรื่องการเมืองการปกครอง จูเลียส ซีซาร์ เป็นชนชั้นสูงแต่ก็พยายามให้สามัญชนมีสิทธิ์เสมอเทียมกัน ประโยคที่ถูกหยิบมาใช้ในแวดวงการเมืองอยู่เนืองๆ ในทุกประเทศก็คือคำกล่าวที่ว่า Et tu, Brute” เป็นวาทะก้องโลกที่สะท้อนความหมายว่า “เพื่อนก็เอากับเขาด้วยหรือนี่...” หรือมีนัยะว่า บนเวทีการเมืองย่อมไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร จากบทละครตอนที่บรูตัส สหายของจูเลียส ซีซาร์ ชักมีดออกแทงจูเลียส ซีซาร์ จนสิ้นใจตาย

หลังการตายของเชกสเปียร์ ความนิยมในเรื่องละครก็ยังไม่เลิกรา ยังมีมาถึงสมัยราชวงศ์สจ๊วต(Staurt) แห่งสก็อตแลนด์ขี้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ นักประพันธ์ที่มีชื่อเช่นเบน จอนสัน( Ben Jonson) แต่งบทละคร บทกวี บทระบำไว้มากมายแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าเพราะความสนุกและภาษายังไม่สู้ของเชกสเปียร์ได้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ศพของเขาก็ได้รับเกียรติให้เก็บไว้ที่มุมกวีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์



หลังการตายทั้งของเชกสเปียร์และ Ben Jonson การละครในลอนดอนยังคงคึกคก แต่เนื้อหาและการแสดงออกจะโทรม เรื่องที่นำมาแสดงก็ได้เปลี่ยนจากเรื่องราวในรั้วในวังหรือประวัติศาสตร์ยุคเก่าก่อน มาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชู้สาว เรื่องราวการฆ่าแกงกัน เป็นการสะท้อนฉายให้เห็นภาพของชาวลอนดอนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี แสดงว่าหลังผ่านยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการมานานเป็นกว่าร้อยปีแล้ว สังคมก็เข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมครั้งใหญ่ จนเกิดมีกลุ่มคนที่ต่อต้านติเตียนการแสดงละครอย่างรุนแรง คือพวกเพียวริตัน(Puritan) จนในที่สุดสภาปาร์เลียเม้นท์ก็ได้ออกกฎหมายให้มีการปิดโรงละครทั้งหมดใน ค.ศ.1642 พวกต่อต้านเขียนหนังสือโจมตีการละครอย่างเผ็ดร้อนขั้นเรียกนางละครว่าเป็น "notorious whore” (แปลได้ว่า โสเภณีชั้นต่ำ หรือ กะหรี่ชั้นสวะ สำนวน อ.เปลื้อง ณ นคร) โดยหารู้ไม่ว่าในราชสำนักนั้นพระนางอังรีเอตตามาเรียกับนางในกำลังซ้อมละครกัน เมื่อพระนางทรงทราบจึงกริ้วมากจึงให้ขับนายวิลเลียม พรินน์ใส่ขื่อคาประจานไว้ที่ถนนกลางเมือง ถูกปรับเงิน ถูกสักประจานที่สองแก้ม และขลิบใบหู


หลังการสิ้นสุดยุคสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 เพราะไม่มีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ หรือที่เรียกถวายสมญานามพระองคืว่า “Virgin Queen” จึงเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ทิวเดอร์(Tudor) ราชวงศ์สจ๊วตโดยเจมส์ที่ 6 ในพระนามใหม่พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งปกครองสก็อตแลนด์จึงต้องมาครองราชย์แทน ขณะเดียวกันก็เป็นสิ้นสุดการละครและนาฎวรรณคดีของอังกฤษที่จะต้องรูดม่านปิดตัวลงตามไปด้วย แต่ก็มีศิลปะของใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนนั้นคือ วรรณคดีร้อยแก้ว และร้อยกรอง(กาพย์โคลงกลอน)กันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ก็ทรงปกครองประเทศด้วยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ยอมฟังใครและทรงถือคติว่า “The King can do no wrong” เมื่อสิ้นสุดยุคของพระองค์ก็สืบราชสันตติวงศ์ด้วยพระราชโอรส พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ก็ทรงปกครองตามพระราชหฤทัยอย่างเผด็จการ จนเกิดการจลาจลอยู่บ่อยๆ และก็ทรงปราบประชาชนอย่างรุนแรงที่สุด จนประชาชนทนไม่ไหวในปี ค.ศ.1625 สภาปาร์เลียเมนท์ จึงได้ตั้งศาลพิจารณาโทษจับพระองค์บั่นพระศอเสีย แล้วก็เปลี่ยนอำนาจการปกครองประเทศกันเสียใหม่เป็นแบบคอมมอนเวลท์ (Commonwealth) คืออำนาจมาจากปวงชนไม่ใช่มาจากพระมหากษัตริย์หรืออำนาจเป็นของกษัตริย์

แต่ในปี ค.ศ.1660 ราชวงศ์สจ๊วตก็ได้กลับคืนพระราชอำนาจอีกหน พระเจ้าชาร์ลที่ 2 (พระราชโอรส)ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ครองราชย์จนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ซึ่งเป็นพระอนุชาได้สืบสันตติวงศ์ แต่ทว่าพระองค์ทรงนับถือคาทอลิกและทรงกุมอำนาจไว้เพียงพระองค์เดียว ได้มีเรื่องเกิดจลาจลพระองค์ต้องหนีออกนอกเมือง ราชสมบัติตกแก่ราชธิดา พระนางแมรี ในปี ค.ศ.1702 พระนางแอนน์สจ๊วต กนิษฐภคินีได้ขึ้นครองราชย์ต่อ ตอนนั้นจึงได้เกิดการรวมสก็อตแลนด์เข้ากับอังกฤษ เรียกว่า “The Great Britain”

Francis Bacon

ในช่วงเวลาแห่งความกดดันด้วยราชวงศ์สจ๊วตอันยาวนาน 200 ปีราษฎรได้พบกับความโหดร้ายทารุณ อยุติธรรม ทรยศคดโกง และโรคระบาด ในด้านวรรณคดีได้เกิดมีนักคิด นักเขียน นักปราชญ์ เป็นที่นิยมของชาวโลกต่อมา ได้แก่ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของพระราชินีอลิซาเบธอยู่ด้วย ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนถึงยุคหนึ่งถูกกล่าวหาว่ารับสินบน ถูกถอนออกจากฐานันดรศักดิ์ทุกตำแหน่งและจำคุก เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ เบคอนก็ได้ออกไปอาศัยอยู่ในชนบทและเริ่มใช้ชีวิตเป็นคนเขียนหนังสือ และมีชื่อเสียงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เบคอนเสียชีวิตเพราะโรคปอดบวม เมื่ออายุ 65 ปี เนื่องจากเขาต้องการทดสอบว่า หิมะมีพลังรักษาคุณภาพและความสดของเนื้อและอาหารให้สดได้อย่างไร เขาเอาตัวเขาเองไปหมกอยู่ในกองหิมะ

เบคอนเขียนตำรับตำราเสียส่วนมาก วรรณกรรมของเบคอนกล่าวกันว่า ผู้ใดอ่านงานของเขาได้ต้องเป็นคนรอคอบมีสมาธิ เพราะเขียนด้วยสำนวนที่กระชับรัดกุม ทุกตัวอักษรมีความหมายเฉพาะและเต็มไปด้วยศัพท์แสงสูงๆ แต่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาศิลป์จึงได้รับยกย่องให้เป็นวรรณคดีด้วย กล่าวคือ เขียนเพื่อให้ความรู้ ไม่ได้มุ่งความเพลิดเพลินอย่างเชกสเปียร์เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างประโยคทองของเบคอน ได้แก่

“Reading maketh a full man, conference a ready man, and writing an exact man.

(และข้อเขียนคำคมอื่นๆ ของเบคอน...........คลิกที่นี่)

John Milton

จอห์น มิลตัน(John Milton) เป็นกวี นักเขียน นักการเมือง นักปราชญ์จนได้รับยกย่องให้เป็น“Sublime” อีกคนนอกจากเชกสเปียร์ โดยเฉพาะกวีนิพนธ์สำคัญเรื่อง “สวรรค์หาย” (Paradise Lost) เขาอ่านหนังสือมากไม่หยุดหย่อนจนเขาตาบอดลง

เขาโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติและตีพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ เป็นชุดออกมาต่อต้านการปกครองคณะบิชอพ(ศาสนจักร) หลังการฟื้นระบอบกษัตริย์กลับคืนโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ได้ขึ้นเสวยราชอีกครั้งหนึ่ง มิลตันก็ได้หลบหนีไป และเขาก็ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานกวีนิพนธ์และได้ผลิตผลงานออกมาจำนวนมาก

Paradise Lost

จอห์น บันยัน (John Bunyan) เขาเป็นหนึ่งในคณะผู้ไม่นิยมนิกาย Church of England ไม่เอาอย่างกษัตริย์ของอังกฤษในสมัยนั้น เขาออกเทศนาจนมีผู้เลื่อมใสมาก แต่การขัดต่อพระราชอำนาจของราชสำนักจึงถูกจองจำอยู่ถึง 12 ปี มีประกาศการอภัยโทษแต่ก็ยกเลิกอีก เขาจึงเข้าๆ ออกๆ คุก ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจเขียนนิทานธรรมะเกิดขึ้นในความฝันของเขาที่มุ่งสอนคนให้เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ กิเลส และมหาอมตะนคร ชื่อเรื่อง Pilgrim’s Progress (จาริกของผู้แสวงบุญ) เป็นเรื่องคล้ายธรรมะชาดกของบ้านเรา ขายดิบขายดีภายใน 4-5 ปีจำหน่ายได้กว่าแสนเล่ม ในเวลาต่อมาเขาจึงได้พ้นคุก

เหตุที่คนชอบอ่านงานของจอห์น บันยันเพราะเขาเขียนด้วยภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา เนื้อหาสนุกสนาน ตื่นเต้นหวาดเสียว ชวนติดตาม มีตลกขบขันแทรกอยู่ เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี คนมีปัญญายิ่งอ่านยิ่งเห็นธรรมและได้ข้อคิด หลังยุคสมัยของจอห์น บันยันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวรรคดีร้อยแก้วของอังกฤษ

ส่วนจอห์น มิลตัน นั้นมีชีวิตอยู่ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา

The Execution of Charles I

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกจับขึ้นศาลพิพากษาตัดสินโดยคณะลูกขุนฐานที่ทรยศต่อประชาชนให้ปลงพระชนม์(ด้วยการบั่นพระศอ) โอลิเวอร์ ครอมเวลส์ (Oliver Cromwell, 1599-1658 ) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ได้เป็นผู้สำเร็จราชการ Lord Protector of England ในปี ค.ศ.1654-8 มีอำนาจเป็นเจ้าชีวิตคนอังกฤษทั้งประเทศ พวกที่ประจบสอพลอหมายจะตั้งให้ครอมเวลส์ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ได้เป็นเพียงแค่ผู้สำเร็จราชการจนถึงแก่อนิจจกรรม ทายาทก็ไม่สามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้จึงถูกพวกนิยมเจ้า (Royalist) ได้ยกพระโอรสในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1ขึ้นเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 นับเป็นการคืนบัลลังก์สู่ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษอีกครั้ง เรียกว่า Restoration (England)

อนุสาวรีย์ Oliwer Cromwell, ในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์

ยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศอังกฤษมีความผันผวนมาก ประชาชนถูกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย พวกไหนชนะก็มีอำนาจครองประเทศ แล้วก็นำเอาพวกวีนักประพันธ์มาเป็นฝ่ายตน ฝ่ายที่พ่ายแพ้ส่วนหนึ่งก็อพยพไปขุดทองที่อเมริกาและไปสร้างชาติของตนเองใหม่ สภาพสังคมอังกฤษก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลนิยม วรรณคดีอังกฤษก็ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อวรรณกรรมร้อยแก้วเริ่มเคียงคู่พวกกาพย์กลอน ละเนื้อหา ทำนองก็เริ่มเปลี่ยน

โรงกาแฟ (The Coffe House)

ในสมัย Restoration ได้เกิดมีสถานที่ชุมนุมของชาวอังกฤษเกิดขึ้นมากมายคือ โรงกาแฟ(Coffee House) เปิดขายกันในปี ค.ศ. 1650 ได้รับความนิยมจากชาวอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทำให้เป็นที่นัดพบพูดคุยหารือกันของบรรดากวี นักประพันธ์ และศิลปินมาพบปะกันทำให้เกิดการแพร่หลายทางด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม

กล่าวกันว่า ปัจจุบันนี้ในอังกฤษที่เดียวมี Coffee House มากกว่า 70,000 แห่ง และที่สก๊อตแลนด์อีกหลายพันแห่ง


ที่มา :
[ ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ ]