Pages

Tuesday, January 15, 2013

เรื่องเล่าจากป่าห้วยขาแข้ง ตอน ป่าเปลี่ยนสี



ลม หนาวที่พัดผ่านประเทศไทย เหมือนจะอ่อนกำลังลงแล้ว อากาศอุ่นขึ้นและร้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ฤดูหนาวกำลังจากลา ฤดูร้อนกำลังมาแทนที่ ช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาที่ผมชอบที่สุด ยามที่ได้กลับเข้าไปยังป่าห้วยขาแข้ง ป่าดูมีสีสัน ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีต่าง ๆ โดยเฉพาะในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ นั่นก็เพราะฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนไป ก็ทำให้สีสันในป่าเปลี่ยนไปเช่นกัน
ฝน ครั้งสุดท้ายตกเมื่อราวกลางเดือนพฤศจิกายน ท้องฟ้าหลังจากนั้นกระจ่างสดใส ฟ้าสีฟ้าเข้ม แดดจัด สายลมหอบเอาความหนาวและพัดเอาความแห้งแล้งมาสู่ผืนป่าอีกครั้ง น้ำในลำห้วยสายหลักของป่าห้วยขาแข้ง ลดระดับลงมองเห็นหาดทราย สันทราย อากาศจะค่อนข้างร้อนในตอนกลางวัน และหนาวเย็นในตอนกลางคืน การเปลี่ยนแปลงของป่าเริ่มต้นที่พืชจำพวกหญ้า ในฤดูฝนพืชพันธุ์เหล่านี้โอนเอนอ่อนไหวยามที่ต้องสายลม ด้วยภายในมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ พงหญ้าเขียวรกทึบปกคลุมพื้นดินอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในป่าเต็งรัง แต่พอถึงฤดูหนาว อากาศร้อนแห้ง ผืนดินขาดน้ำ ต้นหญ้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและกลายเป็นก้านแข็ง นี่เป็นสัญญาณแรกที่บอกว่าป่ากำลังเปลี่ยนฤดูกาล...ส่วนในป่าเบญจพรรณ ไผ่ ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับพืชจำพวกหญ้า ก็อยู่ในลำดับถัดมาที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ใบไผ่เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีเหลืองจนเป็นสีทอง
ตลอด หลายวัน ที่ลมหนาวและความร้อนแล้งได้ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยือนป่าห้วยขาแข้ง น้ำผิวดินระเหยขึ้นสู่บรรยากาศเพื่อทดแทนความชื้นในอากาศ ทำให้พื้นดินยิ่งแห้งแล้ง ขาดน้ำลงเรื่อย ๆ ต้มไม้ พุ่มไม้ เริ่มเปลี่ยนสีใบเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะพวก ไม้พุ่มใบกว้าง ไม้เบิกนำ ที่มีใบขนาดใหญ่ ชอบแสงแดด การระเหยของน้ำในต้นไม้ผ่านการคายน้ำทางใบ จึงมีสูง หนทางที่จะรักษาสมดุลของน้ำ คือ ลดการใช้น้ำ พันธุ์ไม้เหล่านี้จึงเริ่มลดการใช้น้ำก่อนพันธุ์ไม้อื่น ด้วยการเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง แห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล และในที่สุดก็หล่นร่วงสู่พื้นดิน นับได้ว่าพันธุ์ไม้เบิกนำเหล่านี้ เป็นผู้เสียสละ ยอมปลิดใบเพื่อรักษาน้ำในดินให้แกพันธุ์ไม้อื่น ๆ
และ เมื่อวันเวลาผ่านไปถึงช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ พันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังก็ถึงเวลาเปลี่ยนสีบ้าง ไม้ในป่าเต็งรัง คล้ายคลึงกับไม้ในป่าเบญจพรรณ แต่มีไม่มากชนิด ไม้เด่น ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง เหียง พลวง ส่วนป่าเบญจพรรณ มีไม้เด่นจำพวกวงศ์ยาง และมีไม้หลากหลายชนิดกว่า สภาพป่าเต็งรัง มีความโปร่งโล่ง พันธุ์ไม้ไม่หนาแน่นมาก และมักจะขึ้นในพื้นดินที่ตื้น มีความแห้งแล้ง และทนต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์ไม้อื่น ไม้เต็งจะเปลี่ยนสีใบจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ไม้รังจากสีเขียวเป็นสีแดง ป่าเต็งรังซึ่งมีพื้นที่คลอบคลุมกว้างขวางในป่าห้วยขาแข้ง จึงดูมีสีสัน ยอดเนินและภูเขาเตี้ย ๆ ที่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรังจึงดูเป็นสีเหลืองทองและสีทับทิมแดงสวยงาม...สิ่ง เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
หาก เป็นช่วงปกติ ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ น้ำในดินมีมากพอ ใบไม้ยังเป็นสีเขียว พันธุ์ไม้ในป่า ก็จะดูดน้ำและแร่ธาตุจากดิน ผ่านราก ลำต้น ไปสู่ใบไม้ ใบไม้ก็รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ รับพลังงานจากแสงแดด แล้วปรุงวัตถุดิบเหล่านี้เป็นอาหาร จำพวกแป้งหรือน้ำตาล แล้วส่งกลับไปยังทุกส่วนของต้นไม้ เพื่อใช้ในการสร้างความเจริญเติบโต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กระบวนการสังเคราะห์แสง ในการนี้ ของเสียที่เกิดจากการปรุงอาหาร ก็จะเป็นก๊าซออกซิเจน ซึ่งใบไม้จะคายออกมาตลอดเวลาที่ปรุงอาหาร ผู้ที่ทำหน้าที่ปรุงอาหารหรือพ่อครัวใหญ่ ก็คือ คลอโรฟิลล์ สีเขียวของใบไม้ที่เรามองเห็น แต่เมื่อวัตถุดิบในการปรุงอาหารตามธรรมชาติขาดแคลน ดินไม่มีน้ำ ต้นไม้จะรู้ว่าต้องหยุดการปรุงอาหาร หยุดการคายน้ำเพื่อรักษาชีวิตและธรรมชาติโดยรอบ พ่อครัวใหญ่หรือคลอโรฟิลล์ ก็ได้ถอดชุดหยุดพักร้อนยาว โดยถูกดึงกลับจากใบไม้ไปเก็บไว้ในลำต้น เหลือเพียงชุดคลุมเปื้อนสีต่าง ๆ ทั้ง แดง เหลือง แสด ชมพู และม่วง ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาโรทีนอยด์ พันธุ์ ไม้แต่ละชนิดจะเปล่งสีสันของคาโรทีนอยด์ในใบไม้แตกต่างกันไป เช่น ใบเต็ง ใบส้าน ใบมะกอกป่าสีเหลือง ใบรังสีแดง ใบมะกอกเกลื้อนสีแดงสด ใบกระโดนสีเลือดหมู ใบตะคร้อสีส้มสด ซึ่งการที่ใบไม้ค่อย ๆ เปลี่ยนสี จากสีเขียว เป็นสีต่าง ๆ ก็มาจากกระบวนการหยุดปรุงอาหาร สารคาโรทีนอยด์ อยู่ในใบไม้ได้เพียง 3 7 วัน แล้วก็จะสลายตัวไป ช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก สีสันที่สดใสจะอยู่จริง ๆ เพียงประมาณ 3 วันและภายใน 3 วันนั้น สีก็จะแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา
เมื่อ สารคาโรทีนอยด์สลายตัว ใบไม้ก็จะเป็นสีน้ำตาลเหลือเพียงโครงร่างของใบที่ไม่มีสารใด ๆ อยู่กระบวนการต่อมาก็คือ การหยุดคายน้ำ ต้นไม้จะเริ่มส่งกรดที่ชื่อ ABA (Abscission Acid) มาที่ใบ ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ใหม่ที่บริเวณก้านใบที่ติดกับกิ่ง เรียกว่า Abscission Zone จาก นั้นก็สร้างสารอีกพวกหนึ่งเพื่ออุดผนังเซลล์และช่องว่างระหว่างเซลล์ เกิดเป็นกำแพงกั้นไม่ให้น้ำจากลำต้นไปสู่ใบ ถึงตอนนี้ใบไม้ก็หมดหน้าที่ ต้นไม้ก็ส่งสารมาละลายผนังเซลล์ที่ติดกับชั้นป้องกันคล้ายวุ้นเหลว กั้นไว้ระหว่างกิ่งก้านกับใบ ที่นี้ใบไม้ก็พร้อมที่จะหลุดจากก้าน กิ่ง ได้ทุกเมื่อ รอเพียงสายลมที่พัดวูบ หรือเมื่อมันต้านแรงดึงดูดของโลกไม่ไหวเท่านั้น ใบไม้ก็จะหลุดร่วงทิ้งตัวสู่พื้นดิน ทำหน้าที่ห่มคลุมป้องกันแสงแดด รักษาอุณหภูมิที่ผิวดิน เกื้อกูลแก่ธรรมชาติรอบตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง...
ช่วง เวลาของการทิ้งใบและการผลิใบของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดถูกกำหนดไว้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิร้อน หนาว ความชื้น ความเข้มแสง จำนวนชั่วโมงการรับแสงในหนึ่งวัน และปริมาณน้ำในดิน ล้วนเป็นปัจจัยปลดปล่อยฮอร์โมนออกมาควบคุมการทิ้งใบ แตกตา ผลิใบ ออกดอก และการสุกงอมของผลไม้ เท่าที่มีการศึกษาไว้ การทิ้งใบผลิใบมีได้ 4 แบบ แบบแรก ทิ้งใบเหลือแต่กิ่งก้านราว 1 2 เดือนค่อยแตกตา ผลิใบใหม่ เช่น ต้นเต็ง ต้นรัง แบบที่สอง พอใบร่วงก็ผลิใบใหม่ทันที เช่น ต้นเปล้าหลวง ต้นหูกวาง แบบที่สาม ทิ้งใบแล้ว ราว 3- 4 วันค่อยผลิใบใหม่ เช่น ยางนา ยางขาว แบบที่สี่ แบบที่ใบพังเพราะถูกแมลงกัดกินหรือลมพัดฉีกขาดหรือใบหมดอายุ จะมีการผลิใบใหม่ทดแทนทันที เช่น พันธุ์ไม้ในป่าดิบ ทำให้เราดูเหมือนใบไม้ไม่มีการผลัดใบ เราเลยแบ่งสภาพป่าออกเป็น 2 ประเภทแบบกว้าง ๆ ว่า ป่าผลัดใบกับป่าไม่ผลัดใบ ป่าผลัดใบก็พวก ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าไม่ผลัดใบ ก็พวก ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา แต่ตามธรรมชาติ แม้ในป่าผลัดใบ ต้นไม้ก็ไม่ได้ผลัดใบพร้อมกันทุกต้น ธรรมชาติกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรอบคอบ ขณะที่บางต้นทิ้งใบ บางต้นก็ผลิใบใหม่แล้ว และบางต้นก็ยังไม่ทิ้งใบเลย ซึ่งจะทำให้ยังคงมีใบไม้ปกคลุมเป็นร่มเงา ป้องกันไม่ให้แสงแดดเผาหน้าดิน ให้น้ำในดินระเหยมากเกินไป
ช่วง ฤดูหนาวถึงฤดูร้อนในป่า จึงเป็นเวลาที่เกิดสีสัน เกิดการเปลี่ยนแปลงอยากมากมาย ต้นไม้เปลี่ยนใบจากสีเขียวเป็นสีเหลือง สีแดง สีแสด สีน้ำตาล ทิ้งใบ เหลือแต่กิ่งก้าน ผลิใบอ่อนสีแดง สีเหลือง สีแสด สีเขียวสดใส ป่ายามนี้จึงหลากหลายด้วยสีสัน และงดงาม ทั้งหมดคือ การเกื้อหนุนชีวิตทั้งหมดในพงไพร ป่าเปลี่ยนสี เพื่อหยุดการเจริญเติบโต สลัดใบ หยุดการคายน้ำ หยุดการดูดซับทรัพยากร แร่ธาตุ ช่วยบรรเทาและประคองชีวิตให้พ้นจากสภาพการณ์ที่เลวร้าย เพื่อความอยู่รอดของสรรพชีวิตในไพรกว้าง
 








โลกร้อน
ฝนแล้ง
น้ำท่วม
ขยะล้นเมือง
อากาศเป็นพิษ
ศีลธรรม จริยธรรมเสื่อมถอย
 เศรษฐกิจทรุดพัง
ฤาถึงเวลาที่มนุษยชาติ
จะต้องผลัดใบบ้าง..

เรื่องเล่าจากป่าห้วยขาแข้ง ตอน ป่าเปลี่ยนสี
คนเฝ้าบ้าน กลุ่มกิจกรรมธรรมชาติ    E-mail : thainaturegame@hotmail.com  / www.thainaturegame.multiply.com