Pages

Wednesday, July 25, 2012

ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส Platyhelminthes



Platyhelminthes มาจากภาษากรีก (platy + helminth = flat worm) หมายถึง หนอนที่มีลำตัวแบน ได้แก่ พวกหนอนตัวแบน ชื่อสามัญ flat worm มีทั้งที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ เรียก หนอนตัวแบน และพวกที่เป็นพยาธิในสัตว์อื่น เรียก พยาธิตัวแบน โดยสัตว์ในไฟลัมนี้อาศัยอยู่ทั้งในน้ำเค็ม น้ำจืด และบริเวณพื้นดินที่มีชื้นสูง พบประมาณ 20,000 สปีชีส์


ลักษณะที่สำคัญ

มีสมมาตรเป็นแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry)มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นครบถ้วน (triloblastics) ไม่มีช่องตัว (acoelomate) คือ ไม่มีช่องว่างระหว่างผนังลำตัวกับผนังทางเดินอาหาร ผนังชั้นนอกอ่อนนุ่ม บางชนิดมีซิเลีย เช่น พลานาเลีย บางชนิดมีคิวทิเคิล (cuticle) หุ้มและมีปุ่มดูด หรือขอเกี่ยว (hooks) สำหรับยึดเกาะกับโฮสต์ (host) เช่น พยาธิใบไม้ (flukes) พยาธิตัวตืด (tapeworms)ร่างกายแบนทางด้านหลังและด้านท้อง (dorsoventrally) ไม่มีข้อปล้อง แต่บางชนิด เช่น พยาธิตัวตืด มีข้อปล้อง แต่เป็นปล้องที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวลำตัวเท่านั้นพวกที่มีการดำรงชีวิตอย่างอิสระ จะมีเมือกลื่นๆ หุ้มตัว เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (parasitic type) จะมีคิวทิเคิล (cuticle) หุ้มตัวซึ่งสร้างจากเซลล์ที่ผิวของลำตัว ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายซึ่งเกิดจากน้ำย่อยของผู้ถูกอาศัย (host)มีท่อทางเดินอาหารที่เป็นปลายตัน หรือเป็นแบบที่ไม่สมบูรณ์ มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก และพบว่าทางเดินอาหารแตกแขนงออกเป็น 2-3 แฉก ส่วนในพยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหารสัตว์ในไฟลัมนี้เริ่มมีการรวมตัวของอวัยวะแสดงลักษณะหัว (cephalization) คือ มีปมประสาทสมอง อวัยวะรับความรู้สึก และช่องปากมารวมกันอยู่ทางด้านหน้าของลำตัวระบบขับถ่าย มีอวัยวะ ที่เรียกว่า โพรโตเนฟริเดีย (protonephridia) มีลักษณะเป็นท่อที่ปลายด้านในปิด และมีท่อไปเปิดออกด้านนอก ซึ่งประกอบด้วยท่อตามยาวหลายท่อ (protonephridial canal) จากท่อเล็กๆ นี้จะมีท่อแยกไปเป็นท่อย่อย (capillary) ที่ปลายท่อย่อยมีเซลล์โพรโตเนฟริเดียลักษณะเป็นรูปถ้วย (flame bulb) มีแฟลกเจลลัมเป็นกระจุกอยู่ด้านในของถ้วย ซึ่งจะโบกพัดไปมาคล้ายเปลวเทียน จึงเรียกว่า เฟลมเซลล์ (flame cell = เซลล์เปลวไฟ) การโบกพัดของแฟลกเจลลัมทำให้เกิดแรงดึงน้ำผ่านเข้าสู่ท่อของเสียที่โพรโตเนฟริเดีย กำจัดออกในรูปของแอมโมเนียที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งจะไหลออกมาตามท่อ และออกสู่ภายนอกทางช่องเปิด ที่เรียกว่า เนฟริดิโอพอร์ (nephridiopore)ไม่มีอวัยวะที่ใช้ในการหายใจโดยเฉพาะ ในพวกปรสิตจะหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic respiration) เช่น พยาธิใบไม้ ซึ่งพบว่ากระบวนการนี้ให้คาร์บอนไดออกไซด์ และอินทรีย์สารสะสมอยู่ในร่างกายสูง ความเข้มข้นของน้ำนอกร่างกายสูงกว่าภายในร่างกาย จึงมีผลทำให้น้ำเคลื่อนผ่านเข้าสู่ร่างกาย ระบบขับถ่ายจึงทำหน้าที่ปรับสภาวะน้ำภายในร่างกายให้สมดุล ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ จะหายใจแบบใช้ออกซิเจน (aerobic respiration) โดยการใช้ผิวตัวในการแลกเปลี่ยนแก๊สระบบประสาท ประกอบด้วย ปมประสาทด้านหน้า (anterior ganglia) หรือปมประสาท รูปวงแหวน (nerve ring) ทำหน้าที่เป็นสมองเชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ตามยาว (longitudinal nerve cord) ซึ่งทอดไปตามยาวของร่างกายจำนวน 2 เส้น และมีเส้นประสาทตามขวาง (transverse nerve) เชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ทั้งสองด้วย มีอวัยวะรับสัมผัสแบบง่ายๆ บางชนิดมีตา (eye spot)ระบบสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยมีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน จัดเป็นกะเทย (hermaphrodite) มีการปฏิสนธิภายในตัวเอง (self fertilization) และปฏิสนธิแบบข้ามตัว (cross fertilization) และมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการงอกใหม่ (regeneration)

สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งออกเป็น 3 Class ได้แก่

1. Class Turbellaria เช่น พลานาเรีย ซึ่งดำรงชีพโดยหากินอย่างอิสระ
2. Class Trematoda เช่น พยาธิใบไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งดำรงชีพโดยการเป็นปรสิต
3. Class Cestoda เช่น พยาธิตัวตืด ซึ่งดำรงชีพโดยเป็นปรสิต


ที่มา : [ ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ ]